ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังรายงานการประชุมเฟดบ่งชี้การขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ สภาอุตฯเผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน มี.ค. 65 เพิ่มขึ้น ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 33.48/50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/4) ที่ระดับ 33.55/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (5/4) ที่ระดับ 33.42/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ โดยได้แรงหนุนจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานประชุมประจำเดือน มี.ค.ในวันพุธ (6 เม.ย.) โดยระบุว่า กรรมการเฟดสนับสนุนให้ปรับลดขนาดงบดุลบัญชีของเฟดลงเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยจะเริ่มในการประชุมเดือน พ.ค.นี้

รายงานการประชุมระบุว่า กรรมการเฟดหลายคนสนับสนุนให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% ในการประชุมเมื่อวันที่ 15-16 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็มีกรรมการเฟดอีกหลายคนที่มองว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงไม่แน่นอน จึงเห็นว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันดังกล่าว

อย่างไรก็ดี รายงานการประชุมระบุว่า กรรมการเฟดหลายคนมองว่า เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% จำนวนหนึ่งครั้งหรือสองครั้งในการประชุมวันข้างหน้า หากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การเปิดเผยรายงานการประชุมมีขึ้นหลังจากที่นางลาเอล เบรนาร์ด หนึ่งในคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แสดงความเห็นเมื่อวันอังคาร (5 เม.ย.) ว่า เฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเป็นระบบ และเร่งปรับลดขนาดงบดุลจากระดับสูงเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนหน้า พร้อมกับกล่าวว่า ขณะนี้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงเกินไป และการชะลอเงินฟ้อถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญอย่างมาก

นอกจากนี้ เอสแอนด์พี โกลบอล ยังเปิดเผยด้วยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ พุ่งขึ้นสู่ระดับ 58.0 ในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 56.5 ในเดือน ก.พ. แต่ปรับตัวลงจากตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 58.9 ดัชนี PMI ได้รับผลบวกจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในตลาด รวมทั้งการดีดตัวขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่, การจ้างงาน และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผย ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน มี.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 89.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 86.7 ในเดือน ก.พ. 65 โดยค่าดัชนีสูงสุดในรอบ 25 เดือนนับตั้งแต่ มี.ค. 63 เนื่องจากดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการ ได้แก่ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้ ได้แก่ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศและหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัว และความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.40-33.56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.48/50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/4) ที่ระดับ 1.0909/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (5/4) ที่ระดับ 1.0978/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยยูโรอ่อนค่าตามดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0875-1.0934 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0878/80 ดอลลาร์สหัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/4) ที่ระดับ 123.61/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (5/4) ที่ระดับ 122.78/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินเยนยังคงถูกกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่แข็งแกร่ง อาจทำให้เฟดต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 123.47-123.94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 123.74/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐ (7/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.4/0.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.0/+2.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance