วิจัยกรุงศรี ประเมินวิกฤตยูเครนลามกระทบ “ส่งออก-ท่องเที่ยว” ไทยในระยะข้างหน้า ระบุรัฐออกมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพช่วยระยะสั้น
วันที่ 29 มีนาคม 2565 วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา วิเคราะห์ว่า แม้ภาคส่งออกและท่องเที่ยวเดือนกุมภาพันธ์ปรับดีขึ้น แต่ในระยะถัดไปอาจต้องเผชิญผลกระทบจากวิกฤตยูเครน มูลค่าการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 23.48 พันล้านดอลาร์ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ที่ 16.2% YOY เทียบกับเดือนมกราคมที่ 21.26 พันล้านดอลลาร์ (+8.0%)
ปัจจัยหนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักทั่วโลกอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงต้นปี เช่นเดียวกับภาคท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในเดือนกุมภาพันธ์มีจำนวน 152,954 คน จาก 133,903 คน ในเดือนก่อน นำโดยนักท่องเที่ยวรัสเซีย เยอรมนี และฝรั่งเศส
ในช่วงต้นปี (มกราคม-กุมภาพันธ์) เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านต่างประเทศของไทยมีสัญญาณเชิงบวกทั้งภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไปยังมีปัจจัยลบจากผลกระทบของการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์และมีความเสี่ยงจะยืดเยื้อไปถึงไตรมาส 2
อย่างไรก็ตาม แม้ผลกระทบทางตรงต่อการส่งออกของไทยอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากการส่งออกไปรัสเซียและยูเครนคิดเป็นเพียง 0.38% และ 0.05% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยในปี 2564 ตามลำดับ แต่ผลกระทบทางอ้อมค่อนข้างมีนัยสำคัญ
เนื่องจาก 1) ต้นทุนการผลิตและการขนส่งเพิ่มสูงขึ้นตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่พุ่งขึ้น 2) มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอาจกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในหลายอุตสาหกรรม เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบสำคัญรายใหญ่ และ 3) ผลเชิงลบต่อรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปที่เป็นตลาดหลักของการส่งออกและท่องเที่ยวของไทย
ล่าสุดวิจัยกรุงศรีประเมินในกรณีฐานการสู้รบในยูเครนจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกของไทยลดลง 3.0% แต่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น จึงปรับลดคาดการณ์มูลค่าการส่งออก (ในรูปดอลลาร์) ในปีนี้เติบโตที่ 2.6% จากเดิมคาดขยายตัว 5.0% ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ปรับลดลงเหลือ 5.5 ล้านคน จากเดิมคาด 7.5 ล้านคน
มาตรการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตพลังงานวงเงินกว่า 8 หมื่นล้านบาท ทางการคาด GDP ยังเติบโตได้ที่ 3%
ล่าสุด รัฐบาลอนุมัติ 10 มาตรการลดภาระค่าครองชีพช่วยเหลือประชาชน เป็นมาตรการระยะสั้น 3 เดือน คาดจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2565 ทั้งนี้ รัฐบาลระบุวงเงินที่ใช้สำหรับดำเนินมาตรการข้างต้นรวมทั้งสิ้น 80,247 ล้านบาท
แบ่งเป็น 1) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (เงินกู้) วงเงิน 39,520 ล้านบาท 2) กองทุนประกันสังคม (ปรับลดเงินสมทบ) วงเงิน 35,224 ล้านบาท 3) งบOกลางจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงิน 3,740 ล้านบาท และ 4) บมจ.ปตท. (PTT) วงเงิน 1,763 ล้านบาท
ทางการดำเนินมาตรการระยะสั้นเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน (ราว 40 ล้านคน) ภายใต้การประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนเบื้องต้นอาจนาน 3 เดือน ผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลต่อ GDP
และอัตราเงินเฟ้อ เป็น 3 กรณี คือ 1) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 100 $/bbl ราคาดีเซลเฉลี่ย 33 บาท/ลิตร อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 5.0% GDP โต 3.5% 2) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 125 $/bbl ราคาดีเซลเฉลี่ย 40 บาท/ลิตร อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 6.2% GDP โต 3.2%
และ 3) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 150 $/bbl ราคาดีเซลเฉลี่ย 46 บาท/ลิตร อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 7.2% GDP โต 3.0% ด้านวิจัยกรุงศรีล่าสุดปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงเหลือ 2.8% จากเดิมคาด 3.7% จากการสู้รบในยูเครนอาจยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาส 2 ชาติตะวันตกดำเนินมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียรุนแรงขึ้น (ยกเว้นพลังงาน)
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance