ซีอีโอ DITTO เผยเบื้องหลัง “ธีระชัย รัตนกมลพร” เข้าถือหุ้นใหญ่ TEAMG เล็งซินเนอยี่ธุรกิจ ต่อยอดโครงการรับเหมาวิศวกรรมด้านเทคโนโลยี่ มั่นใจเป็นประโยชน์ ทั้ง 2 ฝ่าย คาดได้ข้อสรุปหลังสงกรานต์
จากกรณีที่นาย ธีระชัย รัตนกมลพร ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.ดิทโต้ (ประเทศไทย) หรือ DITTO เข้าซื้อหุ้นใน บมจ.ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ ( TEAMG ) ในสัดส่วน 11.78% จนขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ1 ใน TEAMG ล่าสุดทาง ดร.อภิชาติ สระมูล ประธานเจ้าหน้าที่ TEAMG ได้ชี้แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า การที่ ธีระชัย รัตนกมลพร เข้าซื้อหุ้นของ TEAMG สัดส่วน 11.7867 ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการนั้น ไม่ส่งผลต่อโครงสร้างการบริหารจัดการของบริษัทฯ
ต่อเรื่องนี้ นายฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บมจ.ดิทโต้ (ประเทศไทย) (DITTO) และเป็นน้องชาย นายธีระชัย รัตนกมลพร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงเบื้องหลังการที่นายธีระชัย เข้าถือหุ้นใหญ่ใน TEAMG ว่าเนื่องจากบริษัทฯ มีความสนใจ โดยมองถึงความเป็นไปได้ที่จะซินเนอยี่ธุรกิจระหว่าง 2 บริษัท
จากจุดแข็งของ TEAMG ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร ในด้านการออกแบบ บริหารจัดการ การควบคุมสิ่งแวดล้ม เรื่องของน้ำประปา โรงไฟฟ้า เขื่อน ฯลฯ โดยมีบุคลากรด้านวิศวกรรมจำนวนมาก
ขณะที่ธุรกิจหลักขอ DITTO คนอาจมองว่าเรามีจุดแข็ง ด้านการบริหารข้อมูลครบจร ( Document and Data Management Solution) แต่ธุรกิจโครงการรับเหมาวิศวกรรมด้านเทคโนโลยี่ ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลักที่สร้างรายได้เติบโตให้บริษัทฯ ( ดำเนินการโดย บจก. สยาม ทีซี เทคโนโลยี ในเครือของบริษัท ) เรามีโครงการขนาดใหญ่จำนวนมาก และหลายโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการ หากได้บุคลากรมาเสริมทีม จะเป็นการต่อยอดธุรกิจให้กับทั้ง 2 ฝ่าย
“การเข้าลงทุนของนายธีระชัย ใน TEAMG เป็นการมองถึงผลในระยะยาว และทางทีมกรุ๊ปก็มีบุคลากร และนักวิชาการที่มีศักยภาพทางด้านวิศวกรรมเป็นจำนวนมาก หากมีการซินเนอยี่ทางธุรกิจได้จะเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย ” ซีอีโอ DITTO กล่าวและว่า
เบื้องต้นผู้บริหารทั้ง 2 ฝ่ายได้มีการพูดคุยบ้างแล้ว แต่เนื่องจากผู้ถือหุ้นของTEAMG มีหลายปาร์ตี้ จึงต้องรอความชัดเจน คาดจะมีการหารืออีกครั้งหลังสงกรานต์ ทั้งนี้ทางกลุ่มฯยืนยันว่าการเข้าถือหุ้นของนายธีระชัย ใน TEAMG ครั้งนี้ เราไม่มีเป้าหมายที่จะไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแน่นอน
ผลประกอบการของ DITTO ปี 64 มีรายได้อยู่ที่ 1,090.5 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 11% และมีกำไรสุทธิ 200.7 ล้านบาท เติบโต 76%
โครงสร้างรายได้มาจาก 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่
1.ธุรกิจให้บริการระบบบริหารจัดการข้อมูลเอกสาร คิดเป็นสัดส่วน 41% ของรายได้รวม
2.ธุรกิจรับเหมาวิศวกรรมด้านเทคโนโลยี่ สัดส่วนรายได้ 28%
3.ธุรกิจให้เช่า จำหน่าย และให้บริการด้านเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์ ฯลฯ สัดส่วนรายได้ 31%